หน้าเว็บ

วันอังคารที่ 25 ธันวาคม พ.ศ. 2555

ข้อมูลรถถังหลัก T-84 OPLOT


กล่าวทั่วไป
รถถังหลัก T-84 OPLOT ออกแบบโดยบริษัท Kharkiv Morozov Machine Building Design Bureau (KMDB) และสร้างโดย Malyshev Plant ซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจ (State-owned Enterprise) ของประเทศยูเครน คำว่า “OPLOT” เป็นภาษายูเครน ตรงกับคำในภาษาอังกฤษว่า “Bulwark” ซึ่งหมายถึง “ป้อมปราการหรือที่มั่นสำหรับต่อสู้กับข้าศึก” เป็นรถถังยุคใหม่ที่มีความทันสมัย ถูกออกแบบให้เป็นรถถังที่มีอำนาจการยิงที่รุนแรง มีความแม่นยำสูง มีระบบป้องกันตัวเองที่เชื่อถือได้ และมีความคล่องแคล่วในการเคลื่อนที่สูง สามารถปฏิบัติการในสภาพพื้นที่ที่มีอุณหภูมิแตกต่างกันอย่างมาก คือตั้งแต่ -40 องศาเซลเซียส ถึง + 55 องศาเซลเซียส หรือแม้กระทั่งการปฏิบัติการในพื้นที่ ที่อยู่สูงจากระดับน้ำทะเลถึง 3000 เมตร รถถัง OPLOT ก็ยังสามารถปฏิบัติภารกิจได้เป็นอย่างดี
รถถังหลัก T-84 OPLOT เป็นรถถังที่พัฒนาต่อเนื่องมาจากตั้งแต่ รถถังหลักรุ่น T-64 ซึ่งเป็นรถถังที่ใช้ระบบบรรจุกระสุนแบบอัตโนมัติ (Autoloader) รุ่นแรกของโลก จนมาถึงรถถัง รุ่น T-80UD ก่อนจะกลายมาเป็นรถถัง T-84 OPLOT ในปัจจุบัน รถถังรุ่นนี้ มีการเปลี่ยนแปลงจากรุ่นเดิมหลายรายการ อาทิเช่น ป้อมปืนรุ่นใหม่ เครื่องยนต์ดีเซลขนาด 1,200 แรงม้า เกราะปฏิกิริยาแบบใหม่ กล้องเล็งแบบใหม่ ระบบต่อต้านการตรวจการณ์ด้วยสายตาที่เรียกว่า “Varta” ที่สามารถป้องกันการตรวจจับหรือการเล็งเกาะเป้าหมาย (Tracking) ด้วยแสงเลเซอร์ รวมถึงการมีระบบก่อกวนสัญญานคลื่นอินฟราเรด ซึ่งนิยมใช้ในระบบอาวุธนาวิถีต่อสู้รถถังทั่วๆไปอีกด้วย ซึ่งทำให้รถถังรุ่นนี้สามารถเพิ่มความอยู่รอดในสนามรบได้มากขึ้น
องค์ประกอบหลัก ที่สำคัญของรถถังหลักโดยทั่วไปประกอบด้วย
 อำนาจการยิง (Fire Power)
 การป้องกันตนเอง (Protection)
 ความคล่องแคล่วในการเคลื่อนที่ (Mobility)


อำนาจการยิง ของรถถัง OPLOT ได้แก่ระบบอาวุธ ประกอบด้วย อาวุธหลัก และอาวุธรอง ดังนี้
1.อาวุธหลัก : ปืนใหญ่รถถังแบบลำกล้องเรียบ ขนาด125 มม. แบบ KBA-3 (ตระกูลเดียวกับปืนใหญ่รถถัง แบบ 2A46M1 หรือ D-81 TM ของสหพันธรัฐรัสเซีย) ผลิตโดยสาธารณรัฐยูเครน ใช้การบรรจุกระสุนแบบอัตโนมัติ (Autoloader ) ความเร็วในการยิง 8 นัด/นาที สามารถทำการยิงกระสุนได้ 4 ชนิดได้แก่
 APDSFS
 HEAT
 HE-FRAG
 ATGM (Anti-Tank Guided Missiles)


2.อาวุธรอง
 ปืนกลร่วมแกน แบบ KT-7.62 (PKT) ขนาด 7.62 มม.
 ปืนกลต่อสู้อากาศยานแบบ KT-12.7 ขนาด 12.7 มม แบบควบคุมระยะไกลจากภายในตัวรถ (Remote Control)


ระบบป้องกันตนเอง
สิ่งที่ช่วยในการป้องกันการถูกโจมตีด้วยการยิงด้วยกระสุนชนิดต่างๆ จากรถถังข้าศึก ประกอบด้วย เกราะแบบหลายชั้น , เกราะปฏิกิริยาชนิดป้องกันหัวรบแบบ Tandem แบบติดตั้งจากโรงงาน (BATW-ERA) เกราะป้องกันทุ่นระเบิด ซึ่งจัดเป็นการป้องกันเชิงรับ รถถัง OPLOT ยังมีระบบป้องกันตนเองเชิงรุก ได้แก่ ระบบต่อต้านการโจมตีโดยอาวุธนำวิถีที่ใช้สายตาในการควบคุม (Optronic) ที่เรียกว่า Varta ซึ่งหมายถึงการคุ้มกัน (Guard) นั่นเอง ระบบนี้จะประกอบด้วย การแจ้งเตือนการถูกเล็งเกาะเป้าหมาย (Tracking) ด้วยแสงเลเซอร์เพื่อนำวิถีให้อาวุธต่อสู้รถถังหรือวัดระยะเพื่อทำการยิงปืนใหญ่รถถัง, การรบกวนคลื่นอินฟราเรดและการสร้างฉากควันเพื่อป้องกันตัว รถถังรุ่นนี้ยังมีระบบป้องกัน นชค., ระบบช่วยลดการมองเห็นจากข้าศึก โดยการใช้สีพรางตัวแบบพิเศษระบบป้องกันการแพร่รังสีความร้อนจากเครื่องยนต์ อีกทั้งสามารถติดตั้งอุปกรณ์เพื่อกวาดทุ่นระเบิดได้อีกด้วย

    ภาพแสดงระบบป้องกันตัวเองแบบ Varta

ความคล่องแคล่วในการเคลื่อนที่
รถถัง OPLOT มีเครื่องยนต์ที่มีกำลังเครื่องยนต์สูงและยังมีระบบช่วยการทำงานของเครื่องยนต์ อันได้แก่ ระบบจ่ายน้ำมัน ระบบป้อนอากาศ ระบบหล่อลื่น ระบบให้ความเย็น ระบบระบายแก๊สจากเครื่องยนต์ ระบบให้ความร้อนเครื่องยนต์เบื้องต้นและระบบทำความร้อนในห้องทำงานพลประจำ จุดเด่นอีกประการหนึ่งของ รถถัง OPLOT คือ การเคลื่อนที่ถอยหลังได้อย่างรวดเร็ว อันเป็นผลมาจากมีการออกแบบชุดส่งกำลัง อันประกอบไปด้วย กล่องเกียร์ เฟืองท้ายส่งกำลังถอยหลัง ทำงานร่วมกับระบบควบคุมการเคลื่อนที่แบบซับซ้อนเช่น เฟืองขับ ระบบสายพาน ระบบพยุงตัวรถ นอกจากนี้ยังมีอุปกรณ์พิเศษอื่นๆ อีกเช่น อุปกรณ์ลุยน้ำลึก อุปกรณ์ตรวจการณ์ด้วยสายตาและนำทางเบื้องต้น อุปกรณ์ตรวจการณ์ด้วยสายตาเวลากลางวัน อุปกรณ์ช่วยขับเวลากลางคืน อุปกรณ์ช่วยนำทางเบื้องต้น (นำทางด้วยไจโร) อุปกรณ์เป่าลมที่ช่วยทำความสะอาดอุปกรณ์ตรวจการณ์ด้วยสายตาของป้อมปืนและตัวรถ ระบบช่วยนำทางด้วยดาวเทียม ( GPS )

สำหรับการติดต่อสื่อสารของรถถัง OPLOT นั้น คาดว่าทางกองทัพบกคงใช้ชุดวิทยุที่สามารถใช้ร่วมกันกับชุดวิทยุที่มีใช้อยู่เดิมในกองทัพบกแล้ว เพื่อง่ายต่อการฝึกและสอดคล้องกับการปฏิบัติงานด้านยุทธการและการส่งกำลังบำรุง

ระบบป้อนกระสุนปืนใหญ่รถถัง
เป็นระบบที่ทำหน้าที่ป้อนกระสุนที่มีอยู่เข้าสู่ปืนใหญ่รถถังโดยอัตโนมัติ ประกอบไปด้วยสายพาน เครื่องบรรจุกระสุนอัตโนมัติและระบบควบคุม เป็นชนิด กลไกไฟฟ้าไฮดรอลิค ด้วยมุมบรรจุคงที่มีแบบของกระสุน 4 แบบ ความจุกระสุนในช่องใส่กระสุนพร้อมยิง (Carouselle) มีจำนวน 28 นัด การหมุนตัวของช่องใส่กระสุนพร้อมยิง (Carouselle) สามารถหมุนได้สองทิศทางที่ความเร็วในการหมุนประมาณ 25-33 องศาต่อวินาที อัตราเร็วในการบรรจุกระสุนต่อนัดประมาณ 7 วินาที


การคัดปลอกกระสุนเมื่อทำการยิงไปแล้ว จะถูกนำกลับไปใส่เอาไว้ในช่องว่างในถาดป้อนกระสุนโดยไม่ทำให้เกะกะในห้องปฏิบัติการของพลประจำรถ ชนิดของการป้อนกระสุนแบบสองหัวรบเรียงตามกันป้อนกระสุนและดินส่งพร้อมกันในหนึ่งรอบ ระบบขับอุปกรณ์ป้อนกระสุนสามารถทำการช่องใส่กระสุนพร้อมยิง (Carouselle) ด้วยมืออันประกอบไปด้วยกลไกกระสุนด้วยมือ, ล็อคช่องใส่กระสุนพร้อมยิง (Carouselle) ด้วยมือและล็อคปืนด้วยมือเวลาที่ใช้ในการเติมกระสุนลงช่องใส่กระสุนพร้อมยิง (Carouselle) (ในโหมดเติมกระสุน) 15-20 นาที

ระบบควบคุมการป้อนกระสุนติดตั้งเอาไว้ในรถถังเพื่อ ทำการควบคุมกลไกและไฮดรอลิคของระบบป้อนกระสุน ควบคุมวงรอบการยิงปืนใหญ่และปืนกลร่วมแกนเก็บข้อมูลเกี่ยวกับชนิดกระสุนที่ถูกบรรจุเอาไว้ในช่องใส่กระสุนพร้อมยิง (Carouselle)

ระบบควบคุมการยิงของปืนใหญ่รถถัง
ได้รับการปรับปรุงให้สามารถทำงานอัตโนมัติในการควบคุมระบบอาวุธไม่ว่าจะเป็นการยิงมุมสูงมาก หรือในมุมยิงทางข้างภายใต้สภาพการณ์ต่างๆ ของการยิงนอกเหนือไปจากการยิงแบบมาตรฐาน ผู้บังคับรถสามารถทำการควบคุมปืนใหญ่รถถังและปืนกลร่วมแกนแยกจากพลยิงได้โดยตรง และยังทำให้สามารถทำการยิงปืนกลต่อสู้อากาศยานได้จากสถานีผู้บังคับรถ
 เมื่อทำการเล็งอย่างประณีตตั้งแต่ 0.05 ถึง 1 องศา/วินาที ใช้เวลามากที่สุดไม่เกิน 3 องศา/วินาที
 มุมทิศ ไม่ต่ากว่า 0.05 องศา/วินาที

เครื่องหาระยะด้วยแสงเลเซอร์
สามารถหาระยะได้ตั้งแต่ 400 – 9,000 เมตร ความคลาดเคลื่อนไม่เกิน 10 เมตร ใช้เวลาเตรียมการภายใน 3 นาที

เวลาในการเตรียมการยิงสำหรับกระสุนนัดแรกของปืนใหญ่รถถัง
 เมื่อรถถังอยู่กับที่ ใช้เวลาในการเตรียมการประมาณ 10-12 วินาที
 เมื่อรถถังเคลื่อนที่ใช้เวลาในการเตรียมการประมาณ 10-15 วินาที

ระยะยิงหวังผลของปืนใหญ่รถถังในกระสุนแต่ละประเภท
 กระสุน APDSFS มีระยะยิงหวังผล 2,800 เมตร
 กระสุน HEAT มีระยะยิงหวังผล 2,600 เมตร
 กระสุน HE-FRAG มีระยะยิงหวังผล 2,600 เมตร

ระบบเครื่องควบคุมการยิง
ประกอบไปด้วย กล้องเล็งกลางวันแบบ 1G46M ของพลยิง, กล้องเล็งสร้างภาพด้วยความร้อนแบบ PTT-2 กล้องเล็งและตรวจการณ์ของผู้บังคับรถแบบ PNK -6 ศูนย์เล็งปืนกลต่อสู้อากาศยานแบบ PZU -7, ระบบควบคุมการยิงปืนกลต่อสู้อากาศยานแบบ 1ETs 29M1, คอมพิวเตอร์คำนวณ ขีปนวิธีแบบ LIO–V พร้อมด้วยเซ็นเซอร์ป้อนข้อมูล, อุปกรณ์รักษาการทรงตัวของอาวุธแบบ 2E42M และอื่นๆ


กล้องเล็งของพลปืน แบบ 1G46M
กล้องเล็งแบบกลางวันของพลยิงมีระบบการทรงตัวแบบสองแกนตามแนวสายตาทำงานร่วมกับอุปกรณ์หาระยะด้วยเลเซอร์และทำหน้าที่ในการนำวิถีจรวดต่อสู้รถถังได้อีกด้วย มีการติดตั้งอุปกรณ์คำนวณแก้การเอียงของปืนแบบอัตโนมัติ กล้องเล็งมีกำลังขยายตั้งแต่ 2.7-12 เท่า ภายในกล้องเล็งของพลยิงจะแสดงข้อมูลอื่นๆ เช่น เส้นเล็งแบบมีมาตราสำหรับใช้ยิงกระสุนชนิดต่างๆ เช่นเดียวกับข้อมูลสำหรับปืนกลร่วมแกน โดยเส้นเล็งแบบมาตรานี้มีประโยชน์ในการใช้เป็นระบบวัดระยะสำรองในกรณีที่เครื่องหาระยะด้วยแสงเลเซอร์ใช้งานไม่ได้ และเพื่อป้องกันกล้องเล็งจากแสงวาบจากประกายไฟจากการยิงของอาวุธของตัวเองในช่องเล็งได้มีการติดตั้งเซ็นเซอร์แสง ซึ่งจะปิดกล้องเล็งเมื่อมีการยิง ระบบควบคุมกล้องเล็งช่วยให้พลยิงสามารถเล็งตามเป้าได้อย่างรวดเร็วและแม่นยำ อุปกรณ์หาระยะด้วยเลเซอร์มีระยะปฏิบัติการถึง 9,990 เมตร คลาดเคลื่อนเพียง +/- 10 เมตร ระยะที่วัดได้จะแสดงเป็นตัวเลขพร้อมๆ กับข้อมูลการเตรียมการยิงอื่นๆ เช่น ชนิดของกระสุนที่ส่วนล่างของกล้องพลยิง


กล้องเล็งสร้างภาพด้วยความร้อนแบบ PTT-2
กล้องเล็งแบบสร้างภาพด้วยความร้อน PTT-2 ประกอบไปด้วยกล้องเล็งของพลยิง และจอมอนิเตอร์ของผู้บังคับรถรวมทั้งแผงควบคุม โดยปกติกล้องนี้จะถูกควบคุมการทำงานโดยพลยิง แต่ผู้บังคับรถสามารถควบคุมแยกจากพลยิงได้ไม่ว่าจะเป็นการเล็ง หรือทำการยิงทั้งปืนใหญ่รถถัง หรือปืนกลร่วมแกนโดยใช้ระบบควบคุม และจอมอนิเตอร์สร้างภาพด้วยความร้อนของตน กล้องเล็งสร้างภาพด้วยความร้อนนี้ช่วยให้ทั้งพลยิงและผู้บังคับรถสามารถทำการยิงได้อย่างแม่นยำในสภาพทัศนะวิสัยจำกัด เช่น มีหมอกควัน หรือการปฏิบัติในเวลากลางคืน รวมทั้งปฏิบัติงานในลักษณะ Hunter killer ได้


กล้องตรวจการณ์ของผู้บังคับรถแบบ PNK -6
เป็นระบบกล้องเล็งและตรวจการณ์ของ ผบ.รถ โดยผสมผสานกล้องกลางวันและกล้องกลางคืนแบบ TKN -5 ไว้ด้วยกัน มีระบบรักษาการทรงตัวของกล้อง โดยกล้องกลางวันมีกำลังขยาย 7.6 เท่า และกล้องกลางคืนมีกำลังขยาย 5.8 เท่า โดยกล้องนี้จะทำงานร่วมกันกับเครื่องวัดระยะด้วยแสงเลเซอร์


ระบบอาวุธนำวิถีของรถถัง
มีไว้เพื่อใช้ทำการยิงอาวุธนำวิถีจากลำกล้องปืนใหญ่รถถัง ด้วยการเล็งจากกล้องเล็งแบบ 1G46M ของพลยิง อาวุธนำวิถีที่ใช้ยิงเป็นแบบ IZD 621, 3UBK 14, 3UBK 20 ชนิดหัวรบแบบระเบิดต่อสู้รถถัง (HEAT ระบบนำวิถีเป็นกึ่งอัตโนมัตินำวิถีด้วยแสงเลเซอร์ ระยะยิงไกลสุด 5,000 เมตร ซึ่งเป็นระยะยิงที่ไกลกว่าระยะของปืนใหญ่รถถัง ทำให้รถถัง OPLOT ได้เปรียบรถถังอื่นๆ


เครื่องคำนวณขีปนวิธีของรถถังแบบ TIUS-VM
ใช้ในการคำนวณแก้ค่าขีปนวิธีของกระสุนปืนใหญ่รถถัง โดย คอมพิวเตอร์แบบ LIO-V จะนำข้อมูลที่เกี่ยวข้องต่างๆ จากระบบเซ็นเซอร์ที่วัดค่าได้ เช่น ความเร็วรถถัง, ความเร็วเชิงมุมของเป้าหมาย, อาการเอียงของแกนลำกล้องปืนใหญ่, ความเร็วของลมพัดขวาง, ระยะเป้าหมาย และมุมภาคของเป้าหมาย นอกจากนี้ข้อมูลอื่นๆ ก็จะถูกนำเข้าด้วยมือ เช่น อุณหภูมิโดยรอบ, อุณหภูมิดินส่งกระสุน, อาการสึกของลำกล้องปืนใหญ่ และความดันของอากาศโดยรอบ เป็นต้น นอกจากนี้คอมพิวเตอร์ยังทำการคำนวณเวลาที่เหมาะสมสำหรับกระสุนแบบ ดินระเบิดแรงสูงแบบมีสะเก็ด ( HE-FRAG ) ให้ระเบิดเหนือเป้าหมายได้อีกด้วย ระบบควบคุมการยิงมีประสิทธิภาพสูง เมื่อปุ่มไกปืนถูกกด ปืนจะทำการยิงก็ต่อเมื่อมีการแก้ค่าความแตกต่างระหว่าง แนวเส้นเล็งกับแนวแกนปืนใหญ่รถถังอยู่ในย่านที่ยอมรับได้ ขนาดของ “มุมยิง” ขึ้นอยู่กับระยะยิง และปัจจัยอื่นๆ ลำกล้องปืนใหญ่รถถังสามารถทำงานผิดเพี้ยนไปได้ด้วยสาเหตุต่างๆ เช่น ความร้อนจากการยิง, ฝนตกบนพื้นผิว, การแพร่กระจายคลื่นความร้อน หรือลมพัดขวางเป็นต้น ผลจากปัจจัยเหล่านี้ถูกลดลงโดยการนำเอาแผ่นกันความร้อนลำกล้องมาใช้ และเพื่อแก้ไขอาการคลาดเคลื่อน เนื่องจากความร้อนที่แพร่ออกจากลำกล้องปืนใหญ่ ได้มีการติดตั้งอุปกรณ์เซ็นเซอร์ที่ปากลำกล้องเพื่อส่งข้อมูลเกี่ยวกับการคลาดเคลื่อนของลำกล้องให้กับคอมพิวเตอร์คำนวณขีปนวิถีทำการแก้ไขทันที


เซ็นเซอร์ป้อนข้อมูลคอมพิวเตอร์คำนวณขีปนวิธีปืนใหญ่
เครื่องวัดมุมเอียง (Cant Sensor) ตัวเซ็นเซอร์หรือตัวตรวจจับนี้มีหน้าที่พิจารณาตำแหน่งของการเอียงของปืนทั้งสองแนวระนาบ เพื่อป้อนให้กับคอมพิวเตอร์คำนวณการยิง
เครื่องวัดความเร็วลมทางข้าง (Cross Wind Sensor) มีหน้าที่วัดความเร็วลมที่เกิดการพัดขวาง เพื่อป้อนข้อมูลให้กับคอมพิวเตอร์คำนวณขีปนวิถีของปืนใหญ่รถถัง

      ภาพแสดง เครื่องวัดความเร็วลมทางข้าง (Cross Wind Sensor)

เครื่องวัดความเร็วรถถัง (Tank Speed Sensor) มีหน้าที่วัดความเร็วรถถังในขณะเคลื่อนที่ เพื่อป้อนข้อมูลให้กับคอมพิวเตอร์คำนวณขีปนวิถีของปืนใหญ่รถถัง
เครื่องวัดค่าตำแหน่งป้อมปืนเชิงมุม (Turret Attitude Sensor) มีหน้าที่วัดตำแหน่งเชิงมุมของป้อมปืนที่ทำกับตัวรถ (มุมป้อมปืน) เพื่อป้อนให้กับคอมพิวเตอร์คำนวณขีปนวิถีปืนใหญ่รถถัง

ระบบจุดอ้างปากลำกล้อง (Muzzle Reference System : MRS)
ระบบนี้มีหน้าที่ในการวัดค่าการบิดงอตัวของลำกล้อง เพื่อทำการป้อนข้อมูลให้กับคอมพิวเตอร์คำนวณขีปนวิธีปืนใหญ่รถถัง


แผ่นเกราะปฏิกิริยา (ERA) ประกอบด้วย
โมดูลผลึกแก้ว และแผ่นชายน้ำที่ติดเอาไว้ที่ตัวรถ เช่นเดียวกับชุดเกราะที่นำมาติดเอาไว้ด้านนอกของป้อมปืนตอนหน้าและด้านข้าง และด้านบนของป้อมปืน เกราะปฏิกิริยาแบบ Nozh ติดตั้งเอาไว้บริเวณตำแหน่งต่างๆ เพื่อป้องกันหัวรบแบบดินโพรง(Shape Charge) จากกระสุนระเบิดต่อสู้รถถัง (HEAT) ทุกแบบ และกระสุนเจาะเกราะทรงตัวด้วยครีบหางสลัดครอบทิ้งเอง (APFSDS) เกราะปฏิกิริยาแบบ Nozh ที่เป็นส่วนหนึ่งของชุดเกราะ จะไม่ระเบิดเมื่อถูกยิงด้วยกระสุน 12.7 มม., 30 มม.เจาะเกราะและสะเก็ดของกระสุนขนาดต่างๆ เกราะ Nozh จะถูกเก็บเอาไว้ในกล่องเก็บ หรือไว้ในตัวรถถังเพื่อป้องกันแสงอาทิตย์ หรืออุณหภูมิที่แตกต่างกันมากตั้งแต่ -50 ถึง+55 องศาเซลเซียส และยังสามารถเก็บรักษาเอาไว้ในสภาพความชื้นสูงถึง 100 % ที่อุณหภูมิ +35 องศาเซลเซียส เกราะ Nozh นี้สามารถรักษาคุณสมบัติเหล่านี้เอาไว้ได้นาน 10 ปี



ระบบป้องกัน นชค.
ระบบป้องกันอาวุธนิวเคลียร์ชีวะเคมีแบบสร้างแรงดันสูงมีหน้าที่ป้องกันพลประจำ และอุปกรณ์ต่างๆ ภายในรถจากพลประจำ และอุปกรณ์ต่างๆ ภายในรถจากผลของอาวุธนิวเคลียร์, ฝุ่นกัมมันตภาพรังสี, สารพิษและอาวุธชีวภาพ ตัวป้องกันการแผ่รังสีถูกออกแบบให้มีลักษณะเป็นเส้นที่ติดเอาไว้ด้านใน และภายในสถานีของพลยิงด้านนอกของผิวรถถัง และยังมีการติดตั้งแผ่นยางเอาไว้ภายใน เพื่อป้องกันการกะเทาะของเกราะจากภายใน ระบบมีหน้าที่ป้องกันพลประจำรถ และอุปกรณ์ภายในรถจากการระเบิดของนิวเคลียร์, การแพร่กระจายของรังสีเรเดียม, สารพิษหรืออาวุธชีวะ เช่น เดียวกับการตรวจหา และดับไฟในห้องปฏิบัติการของ พลประจำรถถัง และในห้องเครื่องยนต์
ด้วยระบบป้องกันต่างๆ ที่ได้กล่าวมาแล้วข้างต้นทำให้ รถถัง OPLOT ถือได้ว่าเป็นรถถังที่ได้รับการป้องกันดีที่สุดแบบหนึ่งในโลก




ระบบช่วยนำทางแบบ TIUS (TIUS-NM Navigation Support System)
ระบบช่วยนำทางอาศัยข้อมูลพื้นฐานจากดาวเทียม GLONASS และ GPS NAVSTAR ระบบจะแสดงข้อมูลให้กับผู้บังคับรถเกี่ยวกับตำแหน่งที่อยู่ของรถถังของตนมุมภาคทิศ และตำแหน่งต่างๆ ของกำลังฝ่ายเดียวกัน ช่วยให้ง่ายต่อการควบคุมการดำเนินกลยุทธ์ของหน่วยรถถัง โดยเฉพาะเมื่อต้องมีการปฏิบัติการในสภาพที่มีการสู้รบอย่างรุนแรงที่ต้องมีการปิดป้อม, ในเวลากลางคืน หรือในพื้นที่หมอกควันปกคลุมหนาแน่น ระบบยังแสดงข้อมูลอื่นๆ เช่นทิศทางการหันเลี้ยวให้กับพลขับ เพื่อให้มั่นใจต่อการเคลื่อนที่เข้าหาที่หมายที่ได้เลือกเอาไว้ล่วงหน้า ระบบช่วยนำทางยังช่วยให้ผู้บังคับรถถังสามารถส่งข้อมูล (รวมถึงข้อมูลที่เข้ารหัส) ผ่านทางช่องการติดต่อสื่อสารแบบดิจิตอล โดยใช้ชุดวิทยุมาตรฐานที่ติดอยู่ในรถ คุณสมบัติดังกล่าวได้แสดงให้เห็นถึงขีดความสามารถ ในการควบคุมบังคับบัญชา เพื่อรองรับกับระบบ C4I ในอนาคต




อุปกรณ์ติดต่อสื่อสาร
อุปกรณ์ติดต่อสื่อสาร ระบบสื่อสารประกอบไปด้วยชุดวิทยุความถี่สูงมากแบบ R-030-U และชุดวิทยุความถี่สูงแบบ R-163-50K และยังมีระบบติดต่อ ภายในรถ หรืออินเตอร์คอม (สามารถติดตั้งระบบวิทยุตามที่ลูกค้าต้องการได้ทุกประเภท)



ประสบการณ์ในการทำงานร่วมกันกับประเทศต่างๆ
เป็นไปตามความต้องการของลูกค้ารถถังหลักแบบ รถถัง OPLOT สามารถติดตั้งอุปกรณ์ได้อย่างหลากหลาย เพื่อสนองตอบตรงกับความต้องการ สิ่งอุปกรณ์เหล่านั้นผลิตโดยโรงงานในประเทศต่างๆ ที่เป็นผู้นำในแต่ละชนิดอุปกรณ์ได้แก่
 กล้องสร้างภาพด้วยความร้อนผลิตโดยบริษัท THALES ฝรั่งเศส
 ระบบติดต่อสื่อสารภายในของพลประจำรถ ผลิตโดยบริษัท THALES ฝรั่งเศส
 ปืนกลผลิตโดย Fn HERSTAL เบลเยียม
 อุปกรณ์นำทางผลิตโดยบริษัท LITEF เยอรมัน
 เซ็นเซอร์วัดสภาพอากาศผลิตโดย บริษัท IRDAM สวิสเซอร์แลนด์
รถถังหลักแบบ OPLOT ได้เคยผ่านการทดสอบมาอย่างหนักในหลายภูมิภาค เช่น ตุรกี, มาเลเซียและกรีซ จากการทดสอบได้แสดงให้เห็นว่ารถถังหลัก OPLOT นั้นสามารถปฏิบัติการได้เป็นอย่างดีไม่ว่าจะเป็นในภูมิภาคยุโรป, เอเชียและในที่อื่นๆ สามารถปฏิบัติการได้อย่างยอดเยี่ยมในทุกๆ สภาพอากาศ และในทุกๆ สภาพภูมิประเทศ การออกแบบของรถถัง OPLOT เน้นความอ่อนตัวที่สามารถปรับแต่งให้ได้ตรงกับความต้องการของลูกค้าได้ เพื่อให้เข้ากับภารกิจที่แตกต่างกันออกไป ความอ่อนตัวเพื่อการส่งออกเหล่านี้ได้แก่ ระบบปรับอากาศ, ระบบช่วยนำทางแบบก้าวหน้าของเยอรมัน, ปืนกลร่วมแกน และปืนกลต่อสู้อากาศยานทำในเบลเยียม, ชุดวิทยุที่ออกแบบโดยฝรั่งเศส, อิสราเอล ฯลฯ รถถังถูกออกแบบโดยเน้นระบบเป็นแบบชุดสำเร็จรูป (Modular) ช่วยให้การสับเปลี่ยนชิ้นส่วนอุปกรณ์สามารถทำได้อย่างรวดเร็ว เพื่อสนองตอบปรับเปลี่ยนไปตามภัยคุกคามที่พัฒนาไปไม่หยุดยั้ง เช่น อาวุธนำวิถีต่อสู้รถถัง หรือแม้แต่การปรับแต่งให้ตรงกับความต้องการของแต่ละกองทัพก็สามารถทำได้ง่าย โดยคงไว้ซึ่งอำนาจการยิง,เกราะป้องกันและความคล่องแคล่วในการเคลื่อนที่ ปัจจุบันมีการพัฒนาปรับปรุงขีดความสามารถทางเทคนิคอยู่หลายรายการ รวมถึง ระบบปฏิบัติการในสนามรบที่ทำงานร่วมกับแผนที่ดิจิตอล ทำให้ผู้บังคับรถมีความเข้าใจสถานการณ์การรบดีขึ้น ทำให้รถถังสามารถตอบสนองความต้องการทางยุทธวิธีได้อย่างรวดเร็ว ลดภาระการทำงานของพลประจำลงรวมถึงความเสี่ยงในการยิงฝ่ายเดียวกัน, ระบบควบคุมติดตามเป้าหมายแบบอัตโนมัติในระบบควบคุมการยิง จะช่วยยกระดับความสามารถในการยิงเป้าหมายที่กำลังเคลื่อนที่ ลดความผิดพลาดในการติดตามเป้าหมายของพลยิงลง, การพิสูจน์ฝ่ายในสนามรบ, ระบบจัดการเครื่องยนต์แบบอิเลคทรอนิคส์, ระบบติดต่อสื่อสารแบบดิจิตอลระหว่างรถถัง ฯลฯ



คุณลักษณะทางเทคนิคของรถถัง OPLOT
ประเภท : รถถังหลัก (Main Battle Tank : MBT)
 น้ำหนักรวม : 48 ตัน +-3%
 พลประจารถ : 3 นาย
 อัตราส่วนกำลังต่อน้าหนัก : ไม่ต่ำกว่า 18.2 kw / ตัน (24.7 แรงม้า/ตัน)
 น้ำหนักกดบนพื้นดิน : ระหว่าง 0.097 MPa ( 0.097 kg/ cm2 )
 ย่านอุณหภูมิใช้งาน : -40 ถึง +55 องศาเซลเซียส
ความยาว :
 ปืนใหญ่ชี้ไปข้างหน้า 9,720 มม.
 ปืนใหญ่หันไปข้างหลัง 9,750 มม.
 ตัวรถ 7,075 มม.
ความกว้าง :
 ไม่รวมชายน้ำด้านข้างแบบถอดได้ 3,400 มม.
 รวมชายน้ำด้านข้างแบบถอดได้ 4,275 มม.
 สูง วัดถึงกล้องตรวจการณ์ผู้บังคับรถ 2,800 มม.
 ความยาวของสายพานบนพื้น 4,290 มม.
 ท้องรถสูงพ้นพื้น 470–500 มม.
 สายพาน 2,800 มม.
อาวุธ :
 ปืนใหญ่ลำกล้องเรียบแบบ 2A46M-1 ( KBA-3 ) ขนาด 125 มม. 1 กระบอก (สามารถยิงอาวุธนำวิถีต่อสู้รถถังได้)
 ปืนกลร่วมแกนแบบ PKT ( KT-7.62 ) ขนาด 7.62 มม. 1 กระบอก
 ปืนกลแบบ NSVT ( KT-12.7 ) ขนาด 12.7 มม. 1 กระบอก
 เครื่องยิงลุกระเบิดควัน 12 ท่อยิง
ความเร็วในการเคลื่อนที่ :
 เฉลี่ย (บนถนนดินธรรมชาติ) 40-45 กม./ชม.
 สูงสุด (บนถนนพื้นแข็ง) 70 กม./ชม.
เมื่อใช้เกียร์ถอยหลัง :
 ต่ำสุด 4.8 กม./ชม.
 สูงสุด 31.3 กม./ชม.
ความสิ้นเปลืองน้ามันเพลิงต่อ 100 กม.
 บนถนนดินธรรมชาติแห้ง 325-370 ลิตร
 บนถนนผิวแข็ง ไม่เกิน 300 ลิตร
ระยะปฏิบัติการ :
 บนถนนดินธรรมชาติ :
-ใช้น้ำมันเชื่อเพลิงจากรถถังหลัก 350 กม.
-ใช้น้ำมันเชื้อเพลิงจากถังอะไหล่เพิ่ม 450 กม.
 บนถนนผิวแข็ง :
-ใช้น้ำมันเชื้อเพลิงจากรถถังหลัก 400 กม.
-ใช้น้ำมันเชื้อเพลิงจากถังอะไหล่เพิ่ม 500 กม.
 การข้ามเครื่องกีดขวาง :
-ลาดชัน 58 องศา
-ลาดทางข้าง 25 องศา
-คู กว้าง 2.85 เมตร
-เครื่องกีดขวางแนวตั้ง (สูง) 1 เมตร
-ลุยน้ำลึก (โดยไม่ต้องเตรียมการ) 1.8 เมตร
-ลุยน้ำลึกโดยใช้อุปกรณ์ลุยน้า 5 เมตร โดยไม่จำกัดความกว้าง และระยะทาง
กระสุน :
 กระสุนสำหรับปืนใหญ่รถถัง : ทั้งหมด 46 นัด (28 นัดในช่องใส่กระสุนพร้อมยิง (Carouselle) สำหรับเครื่องบรรจุกระสุนอัตโนมัติ)
 ชนิดของกระสุนปืนใหญ่รถถัง :
o APDSFS
o HEAT
o HE-FRAG
o ATGM (Anti-Tank Guided Missiles)
กระสุนสำหรับอาวุธอื่นๆ :
 ปืนกล KT – 7.62 จานวน 1,250 นัด
 ปืนกล KT – 12.7 จานวน 450 นัด
 ปืนไรเฟิลแบบ AKS จานวน 450 นัด
 กระสุนปืนยิงพลุสัญญาณ จานวน 12 นัด
 ระเบิดมือแบบ F-1 จานวน 10 ลูก
 ระเบิดสำหรับสร้างฉากควัน จานวน 12 ลูก



หลักฐานอ้างอิง
1. http://www.morozov.com.ua/eng/body/oplot_mbt.php
2. http://www.morozov.com.ua/eng/body/kba3.php
3. http://articles.janes.com/articles/Janes-Armour-and-Artillery-Upgrades/Malyshev-Plant-125-mm-KBA3-smoothbore-tank-gun-Ukraine.html
4. http://www.pmulcahy.com/atgm/russian_atgm.htm
5. http://www.tanknutdave.com/component/content/article/244
6. http://web.ruammid.com/t84-oplot-m/
7. PRESENTATION of State–owned Enterprise Kharkiv Morozov Machine Building Design Bureau ( KMDB )
แปลและเรียบเรียงโดย : พ.อ.ญัฐชัย บุญมาก และ พ.ท.จรัญ สุวรรณวงศ์
……………………………………………….

[PDF] ข้อมูลรถถังหลัก T-84 OPLOT : สาธารณรัฐยูเครน

15 ความคิดเห็น:

  1. ทุกอย่างสมราคา เว้นแต่บังโคลนโป่งพองอ้วนเรี่ยดินดูแล้วขัดตากับลดความน่าเกรงขามไปเยอะ ได้แต่ภาวนาอย่าให้กองทัพซื้อรุ่นที่มีบังโคลนแบบนี้มาใช้เลย สงสารพลขับคงต้องระวังกันตัวโก่ง เดี๋ยวโป่งหาย..แฮ่ๆ

    ตอบลบ
  2. อ่านแต่สเป็กมันก็ดีครับ ระบบอิเล้กทรอนิกส์ต่างๆถึงเวลาจะใช้ได้จริง มีปัญหาบ่อยไหม ไทยจะต้องพิสูจน์เอง แต่เรื่องมันโยกนี้ เห็นกันชัดๆ ขับนาน นานไม่เป็นพลดีกับพลประจำรถ รอดูจำนวนซ่อม

    ตอบลบ
  3. ข้อสงสัยก็คือ เราจำเป็นจะต้องมีรถถังที่ครบเครื่องขนาดนี้เลยหรือ? ถ้าหากรบระยะไกลไม่มีอะไรน่าห่วง ทบ.มีของเล่นอื่นๆ มากมาย มี ทอ.ช่วยสนับสนุน ผมก็เข้าใจอยู่ M48/M60 มันเก่าเหลาเหย่ แต่เมื่ออยู่ในสถานการณ์สู้รบแบบพันตูใกล้ชิดนี่ Oplot มันเจ๋งแน่หรือ? เมื่อตอนเป็น T-62-T80UD มันผ่านการพิสูจน์มาหลายตลบก็จริง แต่เมื่อกลายเป็น T84 นี่สิครับน่าห่วง เพราะว่ามันควบคุมด้วยคอมพิวเตอร์ทั้งหมด และมันมันยังไม่เคยออกรบ มันต่างไปจากรุ่นพี่คือ T-72 ที่ผ่านสนามรบมาโชกโชน และตอนนี้อยู่ในมือของเพื่อนบ้านรอบข้าง ผมว่าประเด็นนี้น่าห่วง .. ข้อสงสัยต่อไปก็คือ อุปกรณ์พวกนี้มันใช้ได้ครบสมบูรณ์ 100% จริงหรือ อุปกรณ์หลายชิ้นที่เห็นๆ ติดตั้งอยู่ภายนอก โดดเด่น ง่ายที่จะเป็นเป้ากระทบของแรงระเบิดจากกระสุน/จรวดข้าศึก .. หากอุปกรณ์พวกนี้เสียหายจะส่งผลกระทบโดยรวมถึงระบบอำนวยหรือไม่ .. อันนี้่ก็น่าห่วงครับ มันใช้มันใช้งานได้จริงหรือ หรือมันจะทำให้เดี้ยงไปทั้งระบบ ต้องทิ้งรถหนีตัวใครตัวมัน ซึ่งขณะเดียวกัน ทบ.มีอาวุธต่อสู้รถถังประสิทธิภาพสูงตั้งมากมาย รวมทั้งระบบสตาร์สตรี้ก ที่ซื้อจากอังกฤษหมาดๆ หรือคาร์ลกุสต้าฟ ของสวีเดน ด้วยงบก้อนนี้ซื้ออีกสัก 1,000 ชุด ได้มั้ยครับ จะได้แจกให้ T-72 รอบๆ บ้านได้ทั่วถึงแบบไม่อั้น และ ด้วยงบประมาณนี้ซื้อ ฮ.อาปาเช่ ได้สักฝูงสองฝูงหรือไม่ เอาไว้ขึ้นบินส่องเป้าข้ามพรมแดน ฝึกไปในตัว.

    ทหารแก่ๆ ก็ถามไปงั้นๆ แหละครับ.

    ตอบลบ
    คำตอบ
    1. ไม่ระบุชื่อ29 พฤษภาคม 2556 เวลา 05:09

      ขอประทานโทษครับสตาร์ทริกเป็นจรวดต่อสู้อากาศยานครับส่วนOPLOTยูเครนสมัยก่อนก็ผลิตรถถังป้อนกองทัพเเดงตั้งแต่WW2จนถึงยุควอซอแพคเรื่องฝีมือหายห่วงส่วนประกอบต่างๆก็ได้รับรองตามมาตรฐานISOและเรามีชุดตรวจรับมั่นใจได้ส่วนอาปาเช่นี่ราคาน้องๆF16เลยนะครับและสุดท้ายรถถังต้องปราบด้วยรถถังใครเป็นทหารย่อมรู้ดียิ่งทหารราบถ้าประสาทไม่แข็งพอไม่ได้รับการฝึกที่ดีพอเจอรถถังถึงขั้นสติแตกไปเลยไอ้ที่จะแบกจตถไปสู้นะต้องฝึกมาอย่างดีจริงๆและรถถังก็เป็นอาวุธในการเข้าตีที่ดีที่สุด

      ลบ
  4. ไม่ระบุชื่อ4 พฤษภาคม 2556 เวลา 03:53

    มีอาวุธป้องกันประเทศ แยอะๆ ดีกว่า ม่ายมี ฉุกเฉิน รบกัน จะได้ป้องกันประเทศได้ทัน ม่ายงั้นเสียเวลาจัดหา เขมรยังซื้อรถถัง มาใช้ แล้วไทยละ ถ้ารัฐบาลให้งบมาสัก 1.1 ล้าน ล้านนะ หุ หุ ขอขอบคุณทหารที่ปกป้อง ผืนแผนดินไทย ทุกภาค โดยเฉพาะภาคใต้ ขอสดุดึวีระชน ที่เสียสละชีวิต....

    ตอบลบ
  5. ไม่ระบุชื่อ13 พฤษภาคม 2556 เวลา 08:14

    ซื้อเลยอย่าคิดมากหากคิดว่าดีแล้วเดี๋ยวจะไม่ได้ซื้ออัพเกรดมาดีแล้วไม่ไช่รึ









    ตอบลบ
  6. ไม่ระบุชื่อ19 พฤษภาคม 2556 เวลา 09:42

    เห็นด้วยกับการจัดหา รถถัง oplot เพราะรอบบ้านเราตอนนี้จัดหนักกันทั้งนั้น

    ถึงไม่ได้ออกรบจริงมันก็ส่งผลต่อจิตวิทยา ว่าเรามีรถถังที่ดีที่สุดในโลกเวลานี้ ใครจะกล้าแหยม

    จัดมาซัก 800 คันได้ยิ่งดี ทิศละ 200 คันไปเลย

    ตอบลบ
  7. นี้กำหนดส่งมอบ เดือนพฤษภาคม 2556 ไม่ใช้หรือคับ นี้ก็จะสิ่นเดือนมิถุนายนแล้ว ยังไม่มาให้เห็นตัวเลยคับ หรือโครงการมีปัญหาจนถูกพับไปแล้ว จนต้องมีการเริ่มจัดหารถถังแบบใหม่อย่างลับๆ หรือปล่าวคับ ไม่แน่ใจ

    ตอบลบ
    คำตอบ
    1. หรือว่าเจ้า oplot m จะไม่อาจจะเข้าประจำการแล้ว ก็คงต้องมานั่งลุ่นใหม่หรือปล่าวคับว่าหวยจะออกที่ รถถังแบบไหน

      ลบ
    2. ข่าวนี้จริงหรือปล่าวคับ

      ลบ
  8. ผมว่าถ้าเรื่องนี้เป็นความจริงคงอับอายขายขี่หน้ากันทั้งผู้จัดหา(กองทัพ)และประเทศผู้ผลิต(ยูเครน) แน่นอนคับ และคงเป็นข่าวที่โด่งดังในวงการค้าอาวุธทั่วโลกคับ

    ตอบลบ
  9. สำหรับการส่งมอบรถถัง oplot จำนวน 4-5 คันแรก ก็คงจะมีขึ้นเร็วๆ นี้แหละครับ ซึ่งเหตุที่การนำส่งรถถังดังกล่าวต้องล่าช้าออกไป จากที่กำหนดจะมีการส่งมอบภายในเดือน พ.ค.56 ไม่ใช่เพราะบริษัทผู้ผลิตเขาสร้างยังไม่เสร็จ แต่เกิดจากปัญหาเพียงเล็กน้อยคือ การเลือกสีเพื่อทำสีรถของทางกองทัพบกยังไม่ได้ข้อยุติ..

    ตอบลบ
  10. เวลา 21.00 น.วันที่โพทนี้ คณะตรวจรับมอบยุทโธปกรณ์เดินทางไปรับรถที่ยูเคนแล้วครับ

    ตอบลบ
  11. ดูt72ซีเรียเจอrpg29แล้วเสียววาบๆ เวียดนามก็มีใช้สะด้วย

    ตอบลบ
    คำตอบ
    1. T-72นี่ต้องไปเปรียบรุ่นกับ T-80UD T-84mของเราต้องไปเปรียบกับ T-90msซึ่งพัฒนามาจาก T-72อีกทีนึงครับ ... T-72ออกแบบเป็นรถถังราคาถูก สามารถผลิตจำนวนมากแจกให้ประเทศลิ่วล้อและขายให้พันธมิตรได้เพราะราคาไม่สูงนัก เทคโนฯในการผลิตเกราะไม่ซับซ้อนจึงไม่ค่อยทนทานต่อการถูกยิง ...

      แต่ T-80ud รัสเซียปั้นให้เป็นรถถังชั้นหนึ่งที่มีเฉพาะรัสเซียใช้งานเทคโนฯเกราะหลายชั้นเหมือนรถถังชั้นนำเช่นเจ้าเสือดาวเลโอพาร์ดจากเยอรมัน ชาแลนเจอร์จากอังกฤษ หรือ M-1ของอเมริกา ราคาจึงแพงมาก... รัสเซียใช้T-80u/T-80ud แต่แจก T-72ให้พันธมิตรเป็นทัพหน้ายันกับนาโต้ เหมือนที่อเมริกาให้ M-60แก่พันธมิตรในการเป็นทัพหน้ายันทัพวอร์ซอแพ็ค แต่ตัวเองใช้ M-1นั่นแหละครับ ...

      พอรัสเซียพัฒนาT-72มาเป็น T-90 ยูเครนที่แยกตัวจากรัสเซียจึงนำ T-80ud มาพัฒนาเป็น T-84m ดังนั้นเราควรภูมิใจที่ได้รถถังสายพันธ์เทคโนฯชั้นสูงมาใช้งานครับ

      ลบ