หน้าเว็บ

วันพฤหัสบดีที่ 1 มิถุนายน พ.ศ. 2560

กองเรือยกพลขึ้นบกและยุทธบริการ กองเรือยุทธการ

ประวัติความเป็นมา
ย้อนไปเมื่อ ๖๑ ปีที่แล้ว ในปีพุทธศักราช ๒๔๙๖ กองทัพเรือ ได้รับอนุมัติจาก กระทรวงกลาโหม ให้จัดส่วนราชการ ตามอัตราการจัดกำลังพล เจ้าหน้าที่กองทัพเรือในเวลาปกติ กำหนดจัดหน่วย กองเรือยุทธการ ใหม่ โดยแบ่งเป็น ๔ กองเรือ ประกอบด้วย กองเรือตรวจอ่าว กองเรือปราบเรือดำน้ำ กองเรือทุ่นระเบิด และ กองเรือบริการ ระหว่างปีพุทธศักราช ๒๔๙๖ ถึง ปีพุทธศักราช ๒๕๑๐ กองทัพเรือ ได้รับร่วมทั้งจัดซื้อเรือยกพลขนาดใหญ่ ประกอบด้วย ร.ล. อ่างทอง ร.ล. ช้าง ร.ล. พงัน ร.ล. ลันตา และ ร.ล. พระทอง เรือยกพลขนาดกลาง ประกอบด้วย ร.ล. กูด ร.ล. ไผ่ และ ร.ล. คราม เรือยกพลขนาดเล็ก ประกอบด้วย ร.ล. ปราบ และ ร.ล. สัตกูด เรือสนับสนุนการยกพล ได้แก่ ร.ล. นาคา เรือระบายพลขนาดใหญ่ ประกอบด้วย ร.ล. มัตโพน(ลำเก่า) ร.ล. ราวี (ลำเก่า) ร.ล. อาดัง ร.ล. เภตรา ร.ล. โกลำ และ ร.ล. ตะลิบง และเรือน้ำมัน ได้แก่ ร.ล. สมุย (ลำปัจจุบัน) จากประเทศสหรัฐอเมริกา เพิ่มเติม มาสังกัด กองเรือบริการ ทำให้จำนวนเรือที่มีใช้งานในขณะนั้นมีจำนวนมากขึ้น ในเวลาต่อมาจึงได้ขอเปลี่ยนชื่อจาก กองเรือบริการ เป็น กองเรือยกพลขึ้นบกและบริการ ตั้งแต่ ๒ กุมภาพันธ์ ปีพุทธศักราช ๒๕๑๐ ต่อมา กองทัพเรือ ได้จัดหาเรือประเภทยกพลขึ้นบกและเรือส่งกำลังบำรุงเพิ่มเติมให้กับ กองเรือยกพลขึ้นบกและบริการ ทั้งจากการให้ความช่วยเหลือทางทหารและการว่าจ้างอู่เอกชนต่อเรือใหม่ ดังนั้นเพื่อให้สอดคล้องกับภารกิจในการปฏิบัติการสะเทินน้ำสะเทินบก ประกอบกับจำนวนเรือที่ได้จัดหาเพิ่มเติมขึ้น กองทัพเรือ จึงได้เสนอขออนุมัติ กระทรวงกลาโหม ขอแยก กองเรือยกพลขึ้นบกและบริการ เป็น กองเรือยกพลขึ้นบก และ กองเรือยุทธบริการ ตั้งแต่วันที่ ๑ เมษายน พุทธศักราช ๒๕๓๕ เพื่อแยกภารกิจออกจากกันโดยชัดเจน จนกระทั่งครั้งหลังสุด กองทัพเรือ ได้ปรับโครงสร้างใหม่ โดยการรวม กองเรือยกพลขึ้นบก และ กองเรือยุทธบริการ เข้าด้วยกันใช้ชื่อใหม่ว่า “กองเรือยกพลขึ้นบกและ ยุทธบริการ” ตั้งแต่ ๑ เมษายน ปีพุทธศักราช ๒๕๕๒ จวบจนถึงปัจจุบัน
เหตุที่ กองทัพเรือ อนุมัติให้ วันที่ ๖ พฤศจิกายน ของทุกปี เป็นวันสถาปนาหน่วย สืบเนื่องจาก เมื่อปีพุทธศักราช ๒๓๑๐ สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ซึ่งขณะนั้นทรงดำรงตำแหน่ง เจ้าเมืองตาก พระองค์ได้ทรงรวบรวม ไพร่พล และสร้างทัพเรือขึ้น โดยมีพระราชประสงค์ที่จะกอบกู้เอกราชของชาติไทยไว้ ทรงยกทัพเรือจากเมืองจันทบุรี มาทางทะเลเข้าทางปากน้ำเจ้าพระยา และได้ยกพลขึ้นบกเข้าตีพม่าที่ค่ายโพธิ์สามต้น ซึ่งตรงกับวันที่ ๖ พฤศจิกายน ปีพุทธศักราช ๒๓๑๐ จากวีรกรรมอันยิ่งใหญ่ที่ สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ทรงยกทัพเรือไปโจมตีข้าศึกจากทางทะเลในครั้งนั้น ถือได้ว่าเป็นการปฏิบัติการสะเทินน้ำสะเทินบกครั้งแรกของ กองทัพเรือไทย ด้วยเหตุนี้ เมื่อวันที่ ๕ กรกฎาคม ปีพุทธศักราช ๒๕๓๒ กองทัพเรือ จึงได้อนุมัติให้วันที่ ๖ พฤศจิกายน ของทุกปี เป็นวันคล้ายวันสถาปนากองเรือยกพลขึ้นบกและยุทธบริการ
ภารกิจสำคัญที่ผ่านมา
- การจัด ร.ล. พงัน ไปปฏิบัติราชการในสงครามเวียดนาม พ.ศ.๒๕๐๙ – ๒๕๑๕
- การจัด ร.ล. สมุย ลำที่ ๑ ไปลำเลียงน้ำมันในสงครามโลกครั้งที่ ๒ โดย ร.ล. สมุย ได้รับมอบหมายให้ทำหน้าที่ลำเลียง- น้ำมันเชื่อเพลิงจากสิงคโปร์เข้าสู่ประเทศไทย เพื่อบรรเทาความขาดแคลนภายในประเทศระหว่าง พ.ศ.๒๔๘๔ – ๒๔๘๘ และได้ถูกยิงด้วยตอร์ปิโดจากเรือดำน้ำสหรัฐฯ ชื่อซีไลออน จมลงบริเวณใกล้เกาะโลซิน เมื่อวันที่ ๑๗ มี.ค.๒๔๘๘
- การจัด ร.ล. สีชัง(ลำเก่า) ไปร่วมรบกับสหประชาชาติ ใน สงครามเกาหลี ระหว่างปี พ.ศ.๒๔๙๓ – ๒๔๙๔
- การจัดเรือไปช่วยเหลือประชาชนผู้ประสบภัยจากภัยพิบัติ อาทิ
การจัดเรือไปช่วยเหลือผู้ประสบภัยจากเหตุการณ์พายุใต้ฝุ่นเกย์ พัดถล่มบริเวณอ่าวชุมพร พ.ศ.๒๕๓๒ – ๒๕๓๓
การจัด ร.ล. สุรินทร์ ลำเลียงข้าวสารไปช่วยเหลือผู้ประสบภัยที่ ประเทศฟิลิปปินส์ และประเทศบังกลาเทศ พ.ศ.๒๕๓๔
การจัด ร.ล. สุรินทร์ ลำเลียงข้าวสารไปช่วยเหลือผู้ที่ขาดแคลนอาหารที่ ประเทศโซมาเลียพ.ศ.๒๕๓๖
การจัดเรือไปช่วยเหลือผู้ประสบภัยจากเหตุการณ์พายุใต้ฝุ่นซีดด้า ที่ จว.ชุมพร พ.ศ.๒๕๔๐
การจัดเรือไปช่วยเหลือผู้ประสบภัยจากเหตุการณ์พายุโซนร้อนลินดาที่ จว.ประจวบคีรีขันธ์
การจัดเรือไปช่วยเหลือผู้ประสบภัยจากเหตุการณ์แผ่นดินไหวที่ประเทศฟิลิปปินส์
การจัดเรือไปช่วยเหลือผู้ประสบภัยจากเหตุการณ์พายุไซโคลนในอ่าวเบงกอล
การจัด ร.ล. สีชัง ไปช่วยเหลือผู้ประสบภัยจากเหตุการณ์อุทกภัยที่ ประเทศศรีลังกา พ.ศ.๒๕๔๖
การจัด ร.ล. มันนอก ไปช่วยเหลือผู้ประสบภัยจากเหตุการณ์การเกิดคลื่นยักษ์สึนามิ บริเวณฝั่งทะเลอันดามัน พ.ศ.๒๕๔๗
การจัด ร.ล. แสมสาร ร.ล. แรด ร.ล. กลึงบาดาล และ ร.ล. มารวิชัย ผลักดันน้ำที่ คลองลัดโพธิ์ อ.พระประแดง จ. สมุทรปราการ และจัดเรือระบายพลขนาดเล็กจาก ร.ล.สุรินทร์ ไปซ่อมแซมคันดินกั้นน้ำที่ประตูระบายน้ำบางโฉมศรี จว.สิงห์บุรี เหตุการณ์มหาอุทกภัยร้ายแรง พ.ศ.๒๕๕๔
การจัด ร.ล. อ่างทอง และ ร.ล. มันใน ช่วยขจัดคราบน้ำมันสนับสนุนภารกิจการลำเลียงและขนส่งขยะปนเปื้อนน้ำมันดิบออกจากบริเวณอ่าวพร้าว เกาะเสม็ด ไปส่งยังท่าเรือนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด ของการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย จังหวัดระยอง ฯลฯ
การจัดเรือไปลำเลียงแรงงานไทยจากประเทศสิงคโปร์กลับประเทศไทย
การจัด ร.ล. สุรินทร์ ปฏิบัติราชการสนับสนุนด้านมนุษยธรรมกับองค์การสหประชาชาติในการรักษาสันติภาพในติมอร์ตะวันออก เมื่อ พ.ศ.๒๕๔๗
จัด ร.ล. สิมิลัน ร่วมปฏิบัติภารกิจกับกองกำลังผสมทางทะเล กองกำลังทางเรือสหรัฐ เป็นหมู่เรือปราบปรามโจรสลัด (มปจ.) ในอ่าวเอเดนและชายฝั่งโซมาเลีย ครั้งที่ ๑ ตั้งแต่ ๘ ก.ย.๕๓ – ๑๕ ธ.ค.๕๓ และครั้งที่ ๒ ตั้งแต่ ๑๐ ก.ค.๕๔ – ๓๐ พ.ย.๕๔
การจัดเรือสนับสนุนโครงการปะการังเทียม
กองเรือยกพลขึ้นบกและยุทธบริการ เป็นหน่วยขึ้นตรง กองเรือยุทธการ ที่ตั้งอยู่บริเวณริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา เขตบางนา กรุงเทพมหานคร แบ่งการบังคับบัญชาออกเป็น ๓ หมวดเรือ ประกอบด้วย เรือประเภทต่าง ๆ จำนวนทั้งสิ้น ๒๗ ลำ ดังนี้

หมวดเรือที่ ๑ ประกอบด้วย เรือยกพลอู่ลอย จำนวน ๑ ลำ คือ ร.ล. อ่างทอง เรือยกพลขนาดใหญ่ จำนวน ๒ ลำ ได้แก่ ร.ล. สีชัง ร.ล. สุรินทร์

หมวดเรือที่ ๒ ประกอบด้วย เรือระบายพลขนาดใหญ่ จำนวน ๙ ลำ ได้แก่ ร.ล. ทองแก้ว ร.ล. ทองหลาง ร.ล. วังนอก ร.ล. วังใน ร.ล. มันนอก ร.ล. มันกลาง ร.ล. มันใน ร.ล. มัตโพน ร.ล. ราวี

หมวดเรือที่ ๓ เรือส่งกำลังบำรุง จำนวน ๑๕ ลำ ประกอบด้วย เรือส่งกำลังบำรุงขนาดใหญ่ จำนวน ๑ ลำ คือ ร.ล. สิมิลัน เรือน้ำมัน จำนวน ๖ ลำ ได้แก่ ร.ล. จุฬา ร.ล. สมุย ร.ล. ปรง ร.ล. เปริด ร.ล. เสม็ด ร.ล. มาตรา เรือน้ำ จำนวน ๒ ลำ ได้แก่ ร.ล. จวง ร.ล. จิก และเรือลากจูง จำนวน ๖ ลำ ได้แก่ ร.ล. กลึงบาดาล ร.ล. มารวิชัย ร.ล. ริ้น ร.ล. รัง ร.ล. แสมสาร ร.ล. แรด
หน้าที่
จัดและเตรียมกำลังสำหรับปฏิบัติการยุทธสะเทินน้ำสะเทินบก และการสนับสนุนการส่งกำลังบำรุงกับหน่วยต่าง ๆ ตามที่ร้องขอ
กิจที่ต้องดำเนินการ

ยามปกติ
– จัดและเตรียมกำลังทางเรือ ตลอดจนฝึก-อบรมกำลังพลให้พร้อมที่จะปฏิบัติการยุทธสะเทินน้ำสะเทินบก และการส่งกำลังบำรุงให้หน่วยต่างๆ เช่น การฝึกองค์บุคคลและยุทธวิธี การฝึกดับเพลิง การฝึกร่วม/ผสมกับต่างประเทศ ได้แก่ การฝึกร่วม/ผสมคอบร้าโกลด์ และการฝึกผสม CARAT เป็นต้น
– จัดเตรียมเรือไปปฏิบัติงานในหน่วยต่าง ๆ ได้แก่ ทรภ.๑ ทรภ.๒ ทรภ.๓ มรก.วังไกลกังวล
– จัดเตรียมเรือสำหรับการสนับสนุนการฝึกของหน่วยต่าง ๆ ทั้งใน และนอก ทร. เช่น การฝึก นรจ.รร.ชุมพล การฝึกหลักสูตร / การปฏิบัติงานของ กฝร. นสร. นย. สพ.ทร. และการฝึกภาคทะเลของนักเรียนเตรียมทหารชั้นปีที่ ๓ เป็นต้น
– จัดเตรียมเรือสำหรับการช่วยเหลือประชาชน บริเวณตามเกาะ และพื้นที่ชายฝั่งทะเล ได้แก่ การช่วยเหลือประชาชนที่ประสบภัยแล้ง การช่วยเหลือประชาชนที่ประสบภัยธรรมชาติ เช่น อุทกภัย วาตภัย โดยการลำเลียงเครื่องอุปโภค บริโภคไปช่วยเหลือให้กับประชาชนที่ประสบภัยทั้งในประเทศ และต่างประเทศ รวมทั้งการสนับสนุนโครงการตามพระราชดำริ(โครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืช
ยามสงคราม
ปฏิบัติการยุทธสะเทินน้ำสะเทินบกและการส่งกำลังบำรุงให้กับเรือในทะเลตามที่หน่วยเหนือ สั่งการ/ตามแผน
กิจพิเศษที่หน่วยเหนือมอบหมาย

– การช่วยเหลือผู้ประสบภัยทางทะเลตามที่หน่วยเหนือสั่งการ
– ปกครองบังคับบัญชาเรือของ กร. ที่เข้ารับการซ่อมทำที่ บริษัทอู่กรุงเทพ จำกัด

กองเรือยกพลขึ้นบกและยุทธบริการ ตระหนักถึงภารกิจสำคัญที่จะต้องจัดเตรียมกำลังทางเรือ ให้พร้อมที่จะปฏิบัติการยุทธสะเทินน้ำสะเทินบก และการส่งกำลังบำรุง ตลอดจนการช่วยเหลือพี่น้องประชาชน หากเกิดสาธารณภัยในทุกรูปแบบ จึงได้มีการดำเนินการพัฒนาทั้งด้าน องค์บุคคล องค์วัตถุ และองค์ยุทธวิธี อย่างสม่ำเสมอ อาทิ

- ด้านองค์บุคคล จัดให้มีการฝึกตามขั้นตอน เริ่มตั้งแต่ การฝึกตามสาขาปฏิบัติการของหน่วย ได้แก่ การฝึกองค์บุคคลและยุทธวิธี สาขาการปฏิบัติการสะเทินน้ำสะเทินบก สาขาการส่งกำลังบำรุง การฝึกดับเพลิง การฝึกร่วมกับหน่วยงานใน กองทัพเรือ ได้แก่ การฝึกร่วมกองทัพเรือ และการฝึกร่วมเหล่าทัพ ได้แก่ การฝึกร่วมกองทัพไทย นอกจากนั้นยังมีการฝึกร่วม การฝึกร่วม/ผสม กับต่างประเทศ ได้แก่ การฝึกผสม CARAT การฝึกร่วม / ผสม COBRA GOLD เป็นต้น

- ด้านองค์วัตถุ เสนอโครงการจัดหายุทโธปกรณ์ใหม่ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการปฏิบัติภารกิจ โดยที่ผ่านมาได้รับมอบเรือยกพลอู่ลอย ได้แก่ ร.ล. อ่างทอง รับมอบเรือน้ำมันลำใหม่ ได้แก่ ร.ล. มาตรา นอกจากนั้นในปีงบประมาณ ๒๕๕๘ ยังได้รับการจัดหาเรือลากจูงขนาดกลาง จำนวน ๑ ลำ

- ด้านยุทธวิธี จัดให้มีการจัดทำแนวทางการใช้ ร.ล. อ่างทอง ซึ่งเป็นประเภทเรือที่มีใช้ใน ราชนาวีเป็นครั้งแรก จัดให้มีการฝึกปฏิบัติการร่วมระหว่าง ร.ล. อ่างทอง กับเรือปฏิบัติการพิเศษ(เรือ พ.) ของ นสร. จัดทำแนวทางการใช้ ร.ล. มาตรา ซึ่งมีขีดความสามารถในการส่งน้ำมันทางท้ายเรือ จัดทำแนวทางการตรวจสอบความพร้อมในการช่วยเหลือผู้ประสบภัย (HADR)
จากภารกิจที่มากมายดังกล่าวข้างต้น ประกอบกับเรือในสังกัดมีอายุการใช้ราชการมานาน ส่วนใหญ่มีอายุเกินจากที่ กองทัพเรือ กำหนด ข้อจำกัดในเรื่องงบประมาณในการซ่อมบำรุงและการจัดหาเรือใหม่ การใช้งานเรือจึงเป็นไปในลักษณะใช้ไปซ่อมไป นอกจากนี้ยังมีปัญหาการขาดแคลนกำลังพลที่ได้รับการบรรจุ แต่ด้วยแนวทางการปฏิบัติงานที่ พล.ร.ต.ชนินทร์ ผดุงเกียรติ ผู้บัญชาการกองเรือยกพลขึ้นบกและยุทธบริการ ท่านปัจจุบัน ได้กรุณาให้แนวทางปฏิบัติราชการกับกำลังพลความว่า “กองเรือยกพลขึ้นบกและยุทธบริการ ในช่วงเวลาที่ผ่านมาสามารถปฏิบัติงานสนองภารกิจต่างๆ ของ กองเรือยุทธการ และ กองทัพเรือ ด้วยดีเสมอมา จึงควรดำรงขีดความสามารถนี้ไว้ และพยายามพัฒนาให้มีประสิทธิภาพ และเป็นมืออาชีพยิ่งขึ้น ผู้บังคับการเรือ ผู้ที่อาวุโสตามลำดับภายในเรือ ต้องเป็นผู้นำในการรักษาความพร้อมของกำลังพลและเรือ โดย ฝ่ายอำนวยการ จะคอยช่วยเหลือในการจัดการสภาพแวดล้อมที่เกี่ยวข้อง เพื่อเอื้อประโยชน์ให้เรือ ทุกลำสามารถปฏิบัติภารกิจได้ประสบความสำเร็จอย่างมีประสิทธิภาพและปลอดภัย” จึงทำให้มั่นใจได้ว่า กองเรือยกพลขึ้นบกและยุทธบริการ จะมีความเข้มแข็งสามารถฟันฝ่าอุปสรรคจากข้อจำกัดที่มีอยู่ ให้สามารถปฏิบัติภารกิจที่ได้รับมอบหมายได้สำเร็จลุล่วงสมตามความมุ่งหมายของทางราชการทุกประการ
สุดท้ายนี้ กองเรือยกพลขึ้นบกและยุทธบริการ กำลังดำเนินการจัดตั้งศูนย์ประวัติศาสตร์เพื่อรวบรวมข้อมูล ด้านเอกสารและวัตถุที่มีคุณค่าทางประวัติศาสตร์ ประวัติความเป็นมาและการปฏิบัติงานที่สำคัญของหน่วย เพื่อเป็นแหล่งค้นคว้า / เผยแพร่ความรู้ให้กับผู้ที่สนใจ ท่านผู้อ่านที่มีข้อมูลในเรื่องนี้ ขอความกรุณาแจ้งข้อมูลให้ กองเรือยกพลขึ้นบกและยุทธบริการ ทราบ ที่ โทร. ๐๒ ๔๗๕ ๒๐๘๕ จักขอบพระคุณยิ่ง

วิสัยทัศน์
กองเรือยกพลขึ้นบกและยุทธบริการ กองเรือยุทธการ จะต้องเป็นกำลังรบทางเรือที่มีความพร้อมในการปฏิบัติการยุทธสะเทินน้ำสะเทินบก การลำเลียง และการสนับสนุนการส่งกำลังบำรุงทางทะเลให้กับหน่วยต่าง ๆ ภายใต้การบริหารจัดการที่ดี

พันธกิจ
1. จัดเตรียมกำลังทางเรือ อำนวยการฝึกหน่วยในบังคับบัญชา ให้พร้อมที่จะปฏิบัติภารกิจได้อย่างมีประสิทธิภาพ 
2. ปฏิบัติการสะเทินน้ำสะเทินบก การลำเลียง และสนับสนุนการส่งกำลังบำรุงทางทะเลตามที่ได้รับมอบหมาย 
3. จัดเตรียมกำลังทางเรือ สนับสนุนหน่วยต่าง ๆ ตามที่ได้รับมอบหมาย 
4. ปรับปรุงหลักนิยมและยุทธวิธีการปฏิบัติการยุทธสะเทินน้ำสะเทินบก และส่งกำลังบำรุงทางทะเลให้มีความทันสมัย
5. บริหารจัดการหน่วยภายใต้กระบวนการจัดการบริหารที่ดี
ขอขอบคุณข้อมูลจาก ยุทธการและข่าว กองเรือยกพลขึ้นบกและยุทธบริการ
http://www.koryorpor.com/?page_id=22
--------------------------------------------------------------------------------------------------------------
ประมวลภาพเรือใน กองเรือยกพลขึ้นบกและยุทธบริการ กองเรือยุทธการ


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น